สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๑๘ โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้
(๑) ประหารชีวิต
(๒) จำคุก
(๓) กักขัง
(๔) ปรับ
(๕) ริบทรัพย์สิน

วรรคสอง โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

วรรคสาม ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659 - 3661/2562 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมายไว้ 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงมิใช่โทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 (5)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2562 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปและตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่กำหนดให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9, 72 และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 102 มาตรา 122 ภายหลังจากนั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ในมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อันมีผลให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามมาตรา 9, 72 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีบทกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ทั้งไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 102 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จึงมีผลให้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง มิใช่ไม่มีผลบังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังที่ฎีกาเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 อันเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2562 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 แต่ให้รอการกำหนดโทษและคุมประพฤติไว้ จึงไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 ที่จำเลยฎีกาพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกา

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 83 จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยซึ่งไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2559 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 5 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ซึ่งกรณีนี้จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งหากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยโดยถูกต้องว่าไม่มีอำนาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแต่แรกแล้ว จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวด้วยการยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้ถูกต้อง